ความเป็นมาของโครงการ

ในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการสาธารณะในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ทั้งระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองและระหว่างเมือง ดังจะเห็นได้จากโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะเร่งด่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีส่วนเสริมสร้างให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาในด้านเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง ลดความสูญเสียจากการใช้ยานพาหนะทางบก ลดอุบัติเหตุทางถนน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐนั้นไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของประชาชนได้ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน บริหารจัดการเดินรถ รวมทั้งบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นที่ฐาน และระบบรถไฟ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้พัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่ภาครัฐมีส่วนรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากความมีประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินการของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศให้ก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว

คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2560 ที่ประชุมได้รับทราบโครงการนำร่องภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีโครงการเชื่อมต่อสามสนามบินแบบไร้รอยต่อ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ – ระยอง, โครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) และโครงการรถไฟสายสีแดง โดยมีมติให้กระทรวงคมนาคม (คค) เป็นหน่วยงานหลักเร่งการศึกษาระบบราง และนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายต่อไป

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map) ซึ่งคณะมติรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ได้รับทราบตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ที่เห็นชอบแผนดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟ ขนาดทาง 1 เมตร ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ. 2558- 2565) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายในแนวเหนือ – ใต้ ตะวันออก – ตะวันตก รองรับการเดินทางของผู้โดยสารบริเวณพื้นที่ปริมณฑลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และรองรับการให้บริการด้วยระบบรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และโครงการรถไฟทางไกลหลายเส้นทาง ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องทำการพิจารณากำหนดรูปแบบการลงทุน รวมถึงแนวทางการการบริหารจัดการการเดินรถไฟแบบต่าง ๆ ให้มีความสอดรับซึ่งกันและกันในแต่ละระบบ และทุกช่วงการเดินรถภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบ การเดินรถและองค์ประกอบต่าง ๆ จะก่อให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกสบายต่อผู้โดยสาร รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ในการดำเนินการให้กับ รฟท. มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ได้เกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้สถานการณ์ลงทุนต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการทบทวนแนวทางการลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้นทาง การบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อและสถานีในโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงตลอดแนวเส้นทาง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระการลงทุนภาครัฐ โดยให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

รฟท. โดยที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารจัดการ การเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ระหว่าง รฟท. ดำเนินการเองกับการให้เอกชนร่วมลงทุน และคณะกรรมการรถไฟฯ (คกร.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 เห็นชอบผลการศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารจัดการ การเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยให้ รฟท. ลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้ รฟท. รายงานผลการศึกษาและเปรียบเทียบดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รับทราบผลการศึกษาและเปรียบเทียบแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 และสั่งการให้ รฟท. ดำเนินการศึกษาและกำหนดหลักการโครงการร่วมลงทุนให้ถูกต้องและครบถ้วนตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 ประกอบมาตรา 28 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป