ภาพรวมของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง
โครงการนี้จะประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม โดยจะมีแนวเส้นทางที่เชื่อมจากทิศใต้ไปทิศเหนือ เริ่มจากสถานีหัวลำโพงไปถึงจนถึงสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน โดยจะมีแนวเส้นทางที่เชื่อมจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก โดยเริ่มจากสถานีศาลายาไปจนถึงสถานีหัวหมาก รวมถึงแนวเส้นทางจากสถานีตลิ่งชันไปยังสถานีศิริราช ซึ่งจะแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และรองรับการเดินทางของผู้โดยสารบริเวณพื้นที่ปริมณฑลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้เป็นอย่างดี
แนวเส้นทางผ่านสถาบันการศึกษากว่า 40 สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เป็นต้น ซึ่งในอนาคต อาจเรียกได้ว่าเป็นรถไฟสายการศึกษา หรือ Educational Line ที่ให้บริการนักศึกษา ให้มีความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเดินทางร่วมกิจกรรมทั้งภายในสถาบัน และระหว่างสถาบันมากยิ่งขึ้น
โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงนั้นแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ได้แก่
ส่วนที่ 1
คือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต-ตลิ่งชัน ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะทางรวม 41 กม. แสดงดังรูปข้างล่าง ซึ่ง ครม.อนุมัติเมื่อ ปี 2550 โดยมีค่างานโยธา 71,827.29 ล้านบาท งานระบบ 32,873 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 2,383.28 ล้านบาท ค่างานเพิ่มเติม 8,599.57 ล้านบาท และค่าความผันผวนของแหล่งเงิน 1,222.12 ล้านบาท รวมมูลค่า 116,905.26 ล้านบาท

- รูปแสดงเส้นทางและเงินลงทุนช่วงบางซื่อ-รังสิต-ตลิ่งชันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง -
ส่วนที่ 2
คือ ส่วนต่อขยาย ที่ครม.อนุมติไปแล้วจำนวน 4 โครงการเพิ่มเติม 55.2 กม. และรัฐต้องลงทุนกู้เงินให้ รฟท. เพิ่ม โดยกรอบวงเงินลงทุน 4 โครงการ เท่ากับ 67,575.37 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 6,570.40 ล้านบาท ครม. อนุมัติปี 2562 ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202.18 ล้านบาท ครม.อนุมัติ ปี 2562 ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6,645.03 ล้านบาท ครม. อนุมัติ ปี 2562 และช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง 44,157.76 ล้านบาท ครม. อนุมัติ ปี 2559 แสดงดังรูป

- รูปแสดงถึงเส้นทางและเงินลงทุนสายสีแดงส่วนต่อขยาย -